แดงน้ำ ๒

Pometia pinnata J. R. Forst et G. Forst

ชื่ออื่น ๆ
เคาะ, ทรัย, ไม้สาย, สาย, สั่งมา (ใต้); แสนตาล้อม (เหนือ, ใต้)

ไม้ต้น เปลือกเรียบถึงแตกเป็นร่อง สีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา โคนต้นมีพอน ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียง เวียน มีหูใบเทียม ๑ คู่ รูปรีถึงรูปไข่ มีใบย่อย ๘-๒๖ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ โคนเบี้ยว ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีนวล ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี สีแดง เมล็ดทรงรูปไข่เบี้ยว สีน้ำตาลอมแดง มี ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้ม


     แดงน้ำ ชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๕๐ ม. เปลือก เรียบถึงแตกเป็นร่อง สีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา กิ่งอ่อน เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลถึงสีดำ โคนต้นมีพอน สูงได้ถึง ๕ ม. กว้างได้ถึง ๓ ม. หนาได้ถึง ๑๕ ซม.
     ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ยาวได้ มากกว่า ๑ ม. ก้านใบยาว ๒-๒๕ ซม. มีหูใบเทียม ๑ คู่ รูปรีถึงรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๕ ซม. ยาว ๐.๔-๓ ซม. ร่วงง่าย มีใบย่อย ๘-๒๖ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเรียงสลับ รูปไข่ถึง รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๑๓ ซม. ยาว ๖-๓๒ ซม. ปลายแหลม ถึงเรียวแหลม โคนเบี้ยว ขอบหยักซี่ฟันหรือเป็นหนาม เล็ก ๆ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงหรือมีขนทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อม เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๙ เส้น ปลายเส้นโค้งไปสู่ขอบจัก เส้นแขนงใบนูนทางด้านล่าง ของแผ่นใบ เส้นใบแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบย่อย ยาว ๑.๕-๔ มม.
     ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุก แยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๗๐ ซม. มีขน ที่โคนช่อดอกและโคนช่อแขนง มีใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายหูใบเทียม ร่วงง่าย ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑๑ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. ดอกสีนวล กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงจดกันในดอกตูม โคน กลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อยถึงมากกว่าครึ่งหนึ่งของความ ยาวกลีบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ๒ แฉกนอกมีขนาดเล็ก กว่า ๓ แฉกใน แฉกกลีบเลี้ยงกว้าง ๐.๓-๑.๒ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. ขอบเรียบ มีขนทั้ง ๒ ด้านหรือด้านใน เกลี้ยง ติดทน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมด้าน ไม่เท่า กว้าง ๐.๓-๑.๖ มม. ยาว ๐.๔-๑.๓ มม. ไม่มีเกล็ด ก้านกลีบและรยางค์ด้านนอกมีขนหรือเกลี้ยง จานฐาน ดอกรูปวงแหวน ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๕ เกสร พบน้อย ที่มี ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูสีขาว เรียวยาวคล้ายเส้นด้าย ยาวพ้นกลีบดอก ยาว ๒-๖ มม. เกลี้ยงหรือมีขน อับเรณูยาว ๐.๕-๑ มม. เกลี้ยง ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ไม่มีก้าน รูปคล้ายหัวใจ กว้างได้ถึง ๒.๕ มม. ยาว ๐.๘- ๑.๒ มม. มี ๒ ช่อง พบน้อยที่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๕.๕ มม. ยอดเกสร เพศเมียยาวประมาณ ๑ มม.
     ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง เจริญจากรังไข่เพียง ๑ ช่อง รูปทรงรี กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. สีแดง โคนผลผนังหนาประมาณ ๑ มม. ตอนปลายผลหนาได้ถึง ๗ มม. ไม่มีก้านผล เมล็ดทรงรูปไข่เบี้ยว สีน้ำตาลอมแดง มีเยื่อหุ้ม กว้างได้ถึง ๑.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. มี ๑ เมล็ด

 


     แดงน้ำชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศ ไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบชื้นและ ป่าดิบแล้ง มักพบตามที่โล่งและชื้น เช่น ตามริมน้ำและ น้ำตก ที่สูงจากระดับทะเล ๙๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอก และเป็นผลตลอดปี ผลแพร่กระจายโดยนกและค้างคาว ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา จีน (ยูนนาน) หมู่เกาะ อันดามันและนิโคบาร์ ภูมิภาคอินโดจีนตลอดทั่วทั้ง ภูมิภาคมาเลเซียจนถึงแปซิฟิก ตองกา และซามัว
     ประโยชน์ ผลกินได้ เปลือกต้นใช้ต้มเป็นยา เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง.

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดงน้ำ ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pometia pinnata J. R. Forst et G. Forst
ชื่อสกุล
Pometia
คำระบุชนิด
pinnata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- J. R. Forst et G. Forst
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- J. R. Forst ช่วงเวลาคือ (1729-1798)
- G. Forst ช่วงเวลาคือ (1754-1794)
ชื่ออื่น ๆ
เคาะ, ทรัย, ไม้สาย, สาย, สั่งมา (ใต้); แสนตาล้อม (เหนือ, ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.